อีสท์ วอเตอร์ เตรียมความพร้อม ชู 7 มาตรการสู้ภัยแล้ง
จากสถานการณ์ภัยแล้งในปัจจุบัน ในส่วนของมาตรการรองรับวิกฤตขาดแคลนน้ำ ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรานั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งสภาอุตสาหกรรม การประปาส่วนภูมิภาค กรมชลประทาน ได้ร่วมมือกันดำเนินการบริหารจัดการน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ไม่ว่าจะเป็น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในการขอความร่วมมือจากการนิคมอุตสาหกรรม ลดการใช้น้ำลงร้อยละ 10 รวมถึงการประปาส่วนภูมิภาคในการจัดหาแหล่งน้ำอื่นเพื่อช่วยเพิ่มปริมาณน้ำ และกรมชลประทาน การเตรียมความพร้อมด้านเครื่องมื่อเครื่องจักร ขอความร่วมมือควบคุมการใช้น้ำของภาคเกษตรกร และทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดและเป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำที่วางไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย และให้มีน้ำเพียงพอตลอดฤดูแล้งนี้ต่อเนื่องไปจนถึงฤดูฝนปีนี้
นายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า อีสท์ วอเตอร์ ได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึงนี้ ดังนี้
- ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนลดการใช้น้ำลง 10%
- การจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติมจากบ่อดินเอกชนเข้ามาเสริมในพื้นที่ชลบุรีและฉะเชิงเทรา
- เตรียมความพร้อมระบบสูบน้ำสระสำรองสำนักบก
- โครงการปรับปรุงสถานีสูบน้ำฉะเชิงเทรา (คลองเขื่อน) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการสูบน้ำจากแม่น้ำบางปะกง
- โครงการเชื่อมท่ออ่างเก็บน้ำประแสร์ – อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ กับเชื่อมท่ออ่างเก็บน้ำประแสร์ -อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล
- โครงการเพิ่มปริมาณการจ่ายน้ำท่อหนองปลาไหล-หนองค้อ
- โครงการสูบน้ำจากแม่น้ำระยองไปยังสระสำรองน้ำดิบทับมา
นอกจากนี้ อีสท์ วอเตอร์ สร้างสรรค์และพัฒนาแนวคิดเพื่อชวนให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลทรัพยากรน้ำ ผ่านหลักปฏิบัติเพื่อให้เกิดความยั่งยืน และบรรเทาวิกฤตการณ์น้ำต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยมุ่งมั่นที่จะสร้างพฤติกรรมการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าและร่วมมือกันในทุกภาคส่วน ภายใต้ โครงการ “สะกิดไทย ใส่ใจน้ำ” นำเสนอหลักปฏิบัติการใช้น้ำรูปแบบใหม่
แนวคิดนี้ออกแบบมาเป็นหลักปฏิบัติให้กับทุกภาคส่วนประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันได้ ไม่ว่าจะเป็นครัวเรือน เกษตรกรรม หรืออุตสาหกรรม ให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำ เพื่อช่วยให้ทรัพยากรน้ำเกิดความยั่งยืน และบรรเทาความรุนแรงของวิกฤตการณ์น้ำในด้านต่างๆ ซึ่งประกอบไปด้วยหลักปฏิบัติ 3 ส่วน คือ คุ้มค่า, คาดการณ์, ควบคุม ส่วนที่ 1 คุ้มค่า ใช้ทรัพยากรน้ำอย่างรู้คุณค่าสู่ความยั่งยืน โดยดึงหลักการของการ reduce, reuse, recycle เข้ามาช่วย ส่วนที่ 2 คาดการณ์ มีการจัดสรรน้ำและสำรองน้ำไว้ใช้ เพื่อใช้อย่างพอเพียงและเพียงพอต่อปริมาณน้ำที่มีการจัดสรรไว้อย่างระมัดระวัง ส่วนที่ 3 ควบคุม มีการวางแผนใช้น้ำให้พอดีกับพฤติกรรมการใช้น้ำของตนเอง เพื่อที่จะไม่ก่อให้เกิดการเสียสมดุลของการใช้น้ำในแต่ละเดือนจนส่งผลกระทบถึงแหล่งน้ำ เพื่อสนับสนุนความยั่งยืนของทรัพยากรน้ำของประเทศให้เพียงพอต่อความต้องการในอนาคต และรองรับการเติบโตอย่างไม่หยุดยั้งของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่จะนำไปสู่ความมั่นคงด้านเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและมีน้ำเพียงพอเพื่ออนาคตข้างหน้าอย่างแท้จริง
ข่าว ณ วันที่ 2 เมษายน 2563